ประเพณีไทย พิธีสืบชะตา


   พิธีสืบชะตาของชาวล้านนามีมาแต่โบราณกาลแล้วและมีการประกอบพิธีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้าสู่อาณาจักรล้านนา   เนื่องจากแต่เดิมนั้นพิธีสืบชะตาถือเป็นพิธีพราหมณ์  โดยมีอาจารย์ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นฆราวาสที่มีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมพื้นบ้านและถือเป็นตัวแทนของพราหมณ์    เป็นผู้ประกอบพิธี  ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจนมีความเจริญรุ่งเรือง  พิธีสืบชะตาจึงมีการผสมผสานระหว่างพิธีพุทธกับพิธีพราหมณ์  โดยมีพระสงฆ์มาทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีสืบชะตาแทนอาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาสจวบจนถึงปัจจุบัน


ในการสืบชะตานั้นจะแต่งดาเครื่องสืบชะตาหลายอย่างซึ่งถือเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่งตามพิธีที่สืบทอดกันมา

ประกอบด้วย

  1.  ไม้ค้ำ มีลักษณะเป็นไม้ง่าม  ๓  อัน สำหรับนำมาประกอบกันเป็นซุ้ม  เรียกว่า  ไม้ค้ำชะตา  แต่ด้วยลักษณะไม้ค้ำที่มีขนาดใหญ่และยาวพอประมาณจึงเรียกว่า  ไม้ค้ำหลวง  บางแห่งก็มีขนาดยาว บางแห่งก็มีขนาดสั้นพอประมาณแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น   แต่ส่วนมากนิยมใช้ขนาดยาวเท่ากับวาแขนหรือความสูงของเจ้าของชะตา ไม้ค้ำมีความหมายว่าเพื่อให้เป็นสิ่งค้ำจุนชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาวเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ใกล้จะล้ม  หากมีไม้มาค้ำไว้ก็จะทำให้เจริญงอกงามต่อไป  เหมือนชีวิตคนเราที่ได้รับการค้ำชูย่อมจะมีความสุขความเจริญต่อไปฉันใดก็ฉันนั้น